วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554


สถานการณ์อุทกภัยยังลามลึกแทบทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และบรอดแคสติ้ง ล่าสุดกลุ่มทรู เผยผลกระทบบรอดแบนด์หด 5% ขณะที่รายได้เคเบิลทีวีลดลงราว 3% เหตุพื้นที่เสี่ยงถูกตัดไฟ เร่งเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าเต็มสูบ ทั้งขยายวัน เวลา และยึดชำระค่าบริการ ควบขยายคอลเซ็นเตอร์เพิ่ม 2 แห่ง หวังกระจายความเสี่ยง เล็งผุดโซลาร์เซลล์รองรับอนาคต เชื่อตลาดโทรคมนาคมปีหน้ากลับมาฟื้นแน่


ศุภชัย เจียรวนนท์

ปรากฏการณ์ "มหาอุทกภัย" ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของวงการโทรคมนาคมไทย เพราะก่อนหน้านี้สภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้เต็มไปด้วยสีสัน โดยเฉพาะเมื่อแต่ละค่ายตื่นตัวเดินสายทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อโปรโมตเครือข่าย 3จีของตนเองกันอย่างคึกคัก แต่สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เข้ากรุงเทพฯ จนถึงวินาทีนี้ก็ยังไม่มีทีท่าจะจบง่ายๆ ก็เป็นเสมือนแรงกระแทกให้ทุกค่ายต้องหยุดการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดเหล่านี้ทั้งหมด

"บรอดแบนด์เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุด โดยส่งผลกระทบต่อรายได้ราว 5% รองลงมาคือ ทรูวิชั่นส์ ประมาณ 3-4% ส่วนบริการโทรศัพท์มือถือกระทบน้อยสุด เนื่องจากลูกค้ายังใช้งานต่อเนื่อง"

เป็นคำกล่าวของ ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น และบอกว่า ในส่วนของบรอดแบนด์มีชุมสายย่อยที่โดนผลกระทบประมาณ 10 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนบน ได้แก่ นนทบุรี และปทุมธานี โดยครอบคลุมผู้ใช้บริการราว 50,000 คน ขณะที่ผลกระทบของทรูวิชั่นส์ ส่วนมากเกิดจากการตัดไฟในแต่ละพื้นที่ และมีโครงข่ายโทรศัพท์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 9 สถานีฐาน ในพื้นที่อยุธยา ปทุมธานี ที่จมน้ำ หากรวมพื้นที่ที่มีการตัดไฟจะเป็น 100 สถานีฐาน จาก 9,000 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากผลกระทบสถานีฐานแล้ว แคมเปญทางการตลาดและการขายหลายตัวก็ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากไม่สามารถจัดได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะเดียวกัน ทรู ช็อป ที่เปิดในพื้นที่เสี่ยงก็ต้องปิดให้บริการ คิดเป็นตัวเลขประมาณ 5% จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้กลุ่มทรูต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ ด้วยการหันมารับมือและเตรียมความพร้อมในปีหน้า

สำหรับแผนรับมือ ทรูจะเน้นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นหลัก เบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 43 ล้านบาท แบ่งเป็น 23 ล้านบาทจะมีการปรับระบบการคิดเงินค่าบริการรายเดือนของทั้งทรู อินเทอร์เน็ต และทรูวิชั่นส์ ไปคิดตามจำนวนวันที่สามารถใช้งานได้แทน ส่วนลูกค้าทรูมูฟ และทรูมูฟเอช จะมีการขยายระยะเวลา แม้ว่าลูกค้าเติมเงินจะใช้วันหมดแล้วก็จะขยายให้เป็นเดือนต่อเดือน ในพื้นที่เขตน้ำท่วมและยังเติมเงินให้ฟรีเป็นครั้งๆ ไป ครั้งละ 20 บาท ส่วนอีก 20 ล้านบาท จะเป็นการร่วมบริจาคในรูปแบบต่างๆ ไปยังหน่วยงาน และมูลนิธิทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

"เราต้องมอนิเตอร์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรักษาชุมสายให้ได้มากที่สุด แต่หากน้ำขยายวงกว้าง ก็อาจมีปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการประสานกับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่องดการตัดไฟสถานีฐานหลัก หรืออาจจะมีการสำรองไฟแยกต่างหาก เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง"

ศุภชัย ย้ำถึงสิ่งที่ต้องทำต่อว่า ส่วนของการเตรียมความพร้อมในอนาคต ทรูมีแผนจะเปิดคอลเซ็นเตอร์เพิ่มที่หัวหิน และคาดจะเปิดเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่ชลบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล จากปัจจุบันมีศูนย์ให้บริการ 3 แห่ง กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ การเปิดศูนย์ฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงให้น้อยที่สุด

"ถือเป็นประสบการณ์ที่มีโทษ ขณะเดียวกันก็มีค่า เพราะทำให้เรารู้จักเตรียมตัวให้มีความพร้อมมากขึ้น และวางมาตรการป้องกันเพิ่มขึ้น"

ศุภชัย กล่าวถึงข้อคิดจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ และขยายความถึงมาตรการป้องกันว่า ขณะนี้ทรูได้มีการหารือที่จะนำแผงโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตไฟฟ้าเข้ามาใช้ร่วมกับสถานีฐาน เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดมากขึ้นในอนาคต โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล เพื่อที่จะดำเนินการต่อเนื่องในปีหน้า

"สายไฟถือเป็นระบบที่ดีที่สุด แต่ระบบโซลาร์เซลล์ถือเป็นทางเลือกแรกในการรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่คาดฝันได้เหมาะสุดเช่นกัน เนื่องจากสถานีฐานบ้านเราตั้งอย่างกระจาย ซึ่งจะช่วยให้บริการสามารถทำได้ดีขึ้น"

แม้ภัยธรรมชาติครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของทรูไม่น้อย ทว่ากลุ่มทรูยังคงเดินหน้าขยายเครือข่ายในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมต่อเนื่อง เฉพาะ 3จี ยังวางงบลงทุนไว้ที่ 15,000 ล้านบาทเช่นเดิม พร้อมเชื่อว่าหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติผ่านไป จะสามารถติดตั้งได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกัน ยังมั่นใจว่าในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะกลับมาเติบโตเช่นเดิมแน่นอน



อ่านต่อที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น