วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

système d' การใช้ประโยชน์โครเมี่ยม

ลุ้น "Chrome" บุกตลาดคอมพ์พกพากลางปีหน้า

กูเกิลโชว์ตัวคอมพิวเตอร์พกพาที่ใช้ระบบปฏิบัติการโครม (Chrome operating system) ของตัวเองเมื่อวันอังคารที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ไม่เปิดเผยชื่อแบรนด์แต่คาดว่าจะสามารถวางตลาดในช่วงกลางปี 2011 หากโครงการนำร่องทดสอบโครมในคอมพ์พกพาเป็นไปด้วยดี

ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ของกูเกิลให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับกูเกิล โครมคือการเดินทางอันยาวนานเพื่อสร้างรูปแบบการประมวลผลบนระบบคลาวด์คอมพิวติงที่แท้จริง คำพูดนี้เกิดขึ้นเพราะโครมคือระบบปฏิบัติการที่จะไม่ฝังตัวในฮาร์ดไดร์ฟของเน็ตบุ๊ก แต่จะติดตั้งอยู่บนระบบคลาวด์คอมพิวติงเพื่อให้ผู้ใช้เรียกใช้งานทางอินเทอร์เน็ต โดยแล็ปท็อประบบปฏิบัติการโครมที่กูเกิลเปิดตัวล่าสุดนี้คือส่วนหนึ่งในโครงการนำร่องเพื่อทดสอบความผิดพลาดของแนวคิดนี้ ซึ่งหากไม่มีความผิดพลาด ก็เชื่อว่าแล็ปท็อประบบปฏิบัติการโครมจะสามารถวางตลาดได้ภายในปีหน้า

การเปิดตัวระบบปฏิบัติการโครมของกูเกิลถือเป็นคำขู่ที่ส่งตรงถึงเจ้าตลาดระบบปฏิบัติการอย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) และแอปเปิล (Apple) ซึ่งครองตลาดทั้งการใช้งานคอมพิวเตอร์ในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปและในองค์กรธุรกิจ

กูเกิลย้ำว่าจะไม่เปิดตัวคอมพิวเตอร์พีซีระบบปฏิบัติการโครมจนกว่าจะถึงกลางปีหน้า เพื่อให้กูเกิลมีเวลาเพียงพอต่อการแก้ไขข้อผิดพลาดของซอฟต์แวร์ และสร้างความมั่นใจว่าการใช้งานโครมบนอุปกรณ์สามารถทำได้อย่างราบรื่นอย่างแท้จริง

"ถือเป็นการพัฒนาที่น่าตื่นตา แต่ยังถือว่าเรายังทำได้ไม่เสร็จดี หากกูเกิลเริ่มวางจำหน่ายในช่วงใดช่วงหนึ่ง กูเกิลก็อาจจะไม่พัฒนาต่อเนื่องเท่าที่ควร"

แม้จะยังไม่มีการระบุราคาแล็ปท็อประบบปฏิบัติการโครม แต่ผู้บริหารกูเกิลเชื่อว่าจะมีราคาต่ำกว่าคอมพิวเตอร์ดั้งเดิมที่มีระบบปฏิบัติการติดตั้งไว้ที่เครื่องโดยตรง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นกูเกิลเชื่อว่าจะเป็นการสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค เนื่องจากจะสามารถสร้างทางเลือกเรื่องราคาที่แตกต่างกันในการตัดสินใจ

รายงานระบุว่า ซัมซุง (Samsung Electronics) และเอเซอร์ (Acer) จะเป็น 2 ผู้ผลิตที่ได้สิทธิ์ในการผลิตแล็ปท็อปโครมรุ่นแรก บนชิปจากบริษัทอินเทล (Intel) เบื้องต้นคาดว่า รุ่นที่จะวางจำหน่ายในสหรัฐฯจะมาพร้อมบริการสื่อสารข้อมูลไร้สายฟรีขนาด 100 เมกะไบต์ต่อเดือนเป็นเวลานาน 2 ปีจากโอเปอเรเตอร์เบอร์ 2 ของสหรัฐฯอย่างเวอร์ไซซน ไวร์เลส (Verizon Wireless)

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้คือ การจุดประกายเทคโนโลยีการประมวลผลที่มีเว็บไซต์และอินเทอร์เน็ตเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะนำไปสู่การแทนที่ซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์พีซีด้วยแอปพลิเคชันออนไลน์

นอกจากเปิดตัวรายละเอียดของระบบปฏิบัติการโครม กูเกิลยังเปิดตัวร้านแอปพลิเคชันออนไลน์สำหรับโครมโดยระบุว่าเริ่มวางจำหน่ายเกม ข่าว และซอฟต์แวร์อื่นๆมากกว่า 500 แอปพลิเคชันในขณะนี้ จุดนี้กูเกิลเปิดเผยว่าบริษัทจะได้รับส่วนแบ่ง 5% ในทุกแอปพลิเคชันที่จำหน่ายได้บนบริการของกูเกิล โดยย้ำว่าสัดส่วน 5% ก็เพียงพอสำหรับต้นทุนการดำเนินงานของกูเกิล รายได้ส่วนใหญ่จึงจะตกอยู่ในมือนักพัฒนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

กูเกิลไม่ตอบคำถามว่า ระบบปฏิบัติการ Chrome จะสามารถสร้างกำไรให้บริษัทได้อย่างไร แต่หากพิจารณาข้อมูลที่ผ่านมา กูเกิลก็เปิดให้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ในสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตหลากหลายรุ่นให้สามารถใช้งานได้ฟรี และรับรายได้จากธุรกิจลงโฆษณาบนสมาร์ทโฟนแทน

กูเกิลย้ำว่า จุดประสงค์ของการสร้างระบบปฏิบัติการโครม คือการดึงผู้ใช้ตามบ้านสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดประสงค์เดียวกับการสร้างระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยยอมรับว่าหากมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น กูเกิลก็จะมีช่องทางในการขายโฆษณาออนไลน์ยิ่งขึ้น

หนึ่งในแล็ปท็อประบบปฎิบัติการโครมที่กูเกิลเปิดตัวในงานนี้คือรุ่นต้นแบบของ "CR 48" ที่มาพร้อมหน้าจอขนาด 12 นิ้ว ซึ่งทางกูเกิลไม่ได้เปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เพียงแต่นักพัฒนาที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อนำไปพัฒนาได้

โดยสเปกของ CR 48 คือสามารถเปิดใช้งานได้ภายใน 10 วินาที ถ้าอยู่ในโหมด Sleep สามารถกลับมาทำงานต่อได้ทันที รองรับการเชื่อมต่อไว-ไฟ 3G ให้สามารถเชื่อมต่อได้ทุกที่ทุกเวลา เชื่อมต่อเว็บแคม (Webcam) ได้ คีย์บอร์ดขนาดปกติ สามารถใช้งานต่อเนื่องได้มากกว่า 8 ชั่วโมง เปิดสแตนบายได้ 1 สัปดาห์

สำหรับโปรแกรมเว็บเบราเซอร์โครม รายงานระบุว่าถูกใช้งานโดยผู้ใช้มากกว่า 120 ล้านคนในขณะนี้ และหลังการเปิดตัวระบบปฏิบัติการโครม มูลค้าหุ้นของกูเกิลเพิ่มขึ้นอีก 1.5% เป็น 587.14 เหรียญเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา


ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์


Read more: http://www.comseven.com/
Category : IT News |

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น